ประเพณีลอยกระทงสายไหลประทีป ๑๐๐๐ ดวง


            ประเพณีลอยกระทงสายไหลประทีป ๑๐๐๐ ดวง จัดขึ้นทุกปีในเดือนพฤศจิกายน ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒  เป็นประเพณีของชาวเมืองตากที่สืบทอดกันมาช้านาน ซึ่งแตกต่างจากการลอยกระทงทั่วๆ ไป โดยวัสดุที่ใช้ทำกระทงคือกะลามะพร้าวเป็นองค์ประกอบหลักของตัวกระทง
สาเหตุที่ใช้กะลามะพร้าวสืบเนื่องมาจากชาวเมืองตากนิยมรับประทาน เมี่ยง เป็นอาหารว่าง และผลิตเป็นสินค้า OTOP พื้นเมืองที่สำคัญ จึงต้องใช้เนื้อมะพร้าวจำนวนมากเพื่อทำไส้เมี่ยง กะลาจึงเป็นวัสดุที่เหลือทิ้ง ครั้งเมื่อถึงเทศกาลลอยกระทงชาวบ้านจึงนำกะลาดังกล่าวออกมาขัดล้างทำความสะอาด เพื่อใช้ทำกระทง นำเชื้อเพลิงที่เตรียมไว้ใส่ลงในกะลา แล้วจุดไฟปล่อยลอยในแม่น้ำปิงกะระยะห่างเท่า ๆ กันให้สม่ำเสมอไม่ขาดสาย แสงเทียนในกะลาจะส่องแสงระยิบระยับเต็มลำน้ำแม่ปิง ลอยคคโค้งไปตามกระแสน้ำดูสวยงามยิ่ง นับเป็นประเพณีที่แปลกและมีแห่งเดี่ยวในเมืองไทย ในพ.ศ. ๒๕๔๐ เทศบาลเมืองตากจึงได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช โปรดเกล้าฯพระราชทานถ้วยรางวัลให้กับทีมที่ชนะเลิศการประกวดกระทงสาย และโปรดเกล้าฯพระราชทานพระประทีปให้ในพ.ศ. ๒๕๔๑ สำหรับอัญเชิญลงลอยในวันเปิดงาน ต่อมาในพ.ศ. ๒๕๔๔ จึงได้รับพระมหากรุณาธิคุณอีกครั้งจากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถโปรดเกล้าฯพระราชทานพระประทีปร่วมลอยด้วย กิจกรรมในงานเทศบาลเมืองตาก ได้ตกแต่งริ้วขบวนแห่พระประทีปพระราชทาน กระทงพระราชทาน การประกวดขบวนแห่งกระทงใหญ่ กระทงนำ กระทงตาม และการแข่งขันปล่อยกระทงสายไหลประทีปพันดวง เพื่อชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ การแสดงทางวัฒนธรรม การประกวดธิดากระทงสาย และการจำหน่ายสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

นกเค้าหู (นกเค้ากู่)

มุลาอิ ขุนเขาแห่งศรัทธา

ซาลาแมนเดอร์ หรือจิ้งจกน้ำ