52 ปี เขื่อนภูมิพล ยักษ์ใหญ่ที่ไม่เคยหลับ

        ใต้ฐานเขื่อนสูงเท่าตึก 50 ชั้น เครื่องจักรขนาดใหญ่ 8 ตัวทำงานเงียบงัน แม้ผลัดกันหยุดพักบ้าง แต่ทั้งหมดไม่เคยหยุดทำ "หน้าที่" เลยตลอด 52 ปี
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ความต้องการใช้ไฟฟ้าทั้งประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 ต่อปี ขณะที่ผลิตไฟฟ้าได้ 53,800 กิโลวัตต์ เท่านั้น แม้จะซ่อมแซมโรงไฟฟ้าที่ถูกระเบิดเสียหายเมื่อตอนสงคราม และติดตั้ง เครื่องผลิตไฟฟ้าเพิ่มก็ยังไม่เพียงพอ รัฐบาลสมัยนั้นจึงก่อสร้างแหล่งผลิตพลังงานไฟฟ้าขนาดใหญ่ขึ้นที่ลำน้ำปิง อ.สามเงา จ.ตาก เรียกว่า "โครงการยันฮี" ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระปรมาภิโธยให้เป็นชื่อเขื่อนว่า "เขื่อนภูมิพล"
วันที่ 17 พฤษภาคม 2507 เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดเขื่อน และส่งกระแสไฟฟ้าเข้าระบบเป็นครั้งแรก

ณัฐวุฒิ แจ่มแจ้ง ผู้อำนวยการเขื่อนภูมิพล คนปัจจุบัน ที่ทำงานที่นี่มากว่า 1 ปีเศษ บอกว่า จนถึงวันนี้เขื่อนที่ในหลวงทรงมีพระราชดำรัสว่าต้องการให้เป็น "โอ่งเก็บน้ำ" นี้ ส่งน้ำอุปโภคบริโภคและหล่อเลี้ยงพื้นที่เกษตร 14 จังหวัด ภาคกลางกว่า 10 ล้านไร่ ผลิตไฟฟ้าปีละ 1,200 ล้านหน่วย หรือ 1% ของการใช้ไฟทั้งประเทศ ประหยัดเงินค่าน้ำมันเตาได้แล้ว 2 แสนล้านบาท คนท้องถิ่นจับปลาจากอ่างเหนือเขื่อนกว่า 600 ตัน/ปี ขายได้ปีละกว่า 36 ล้านบาท มีนักท่องเที่ยวกว่าปีละ 7-8 แสนคน
แต่ละปีเขื่อนภูมิพลระบายน้ำออก 5 พันล้านลูกบาศก์เมตร ณัฐวุฒิ แจ่มแจ้ง บอกว่า หากระบายได้ปีละ 9 พันล้านลูกบาศก์เมตรขึ้นไป คงจะจ่ายให้คนทำไร่นาได้กว้างไกลกว่านี้ เมื่อดูการใช้ไฟของคนในปัจจุบันแล้ว เขาบอกว่าหากจะผลิตไฟให้ใช้กันอย่างจุใจบวกเคยตัวแล้ว ต้องมีเขื่อนภูมิพลอีก 2 -3 เขื่อนจึงจะพอ
แม้เขื่อนจะอยู่ในความดูแลของ กฟผ. แต่การบริหารจัดการน้ำในเขื่อนเป็นของกรมชลประทานล้วนๆ โดยการคำนวณปริมาณฝนตลอดปี ร่วมกับข้อมูลของหน่วยงานของกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงพาณิชย์ ก่อนกำหนดเป็นแผนปี แผนเดือน แผนสัปดาห์ และแผนวัน มาให้ปฏิบัติตามอย่างละเอียดว่าในแต่ละวันจะต้องระบายน้ำมากน้อยเท่าไหร่ เช่น แล้งที่ผ่านมาต้องระบายน้ำเฉลี่ยวันละ 10-20 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อให้เกษตรกรทำนาปรัง
ปี 2537 เคยแล้งสุด น้ำในอ่างมีเหนือระดับ dead storage เพียง 60 ล้าน ลูกบาศก์เมตร ต้องหยุดระบายน้ำ ปี 2554 น้ำไหลล้นสปีดเวย์ เขื่อนภูมิพล บวกกับน้ำในลุ่มแม่น้ำวัง ไหลล้นอ่างกิ่วลม กิ่วคอหมา ไหลลงสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ท่วม กทม.และเขตปริมณฑล ปี 2559 น้ำในอ่างเขื่อนภูมิพล เหลือน้ำใช้งานได้เพียง ร้อยละ 3 มีน้ำใช้งานได้เพียง 60 วัน ปีนี้ ไปถึงปีหน้า หากไม่มีน้ำไหลเข้าอ่าง หรือเรียกง่าย ๆ ว่า ไม่มีพายุฝนตกมา 2-3 ลูก วิกฤตภัยแล้งรุนแล้ง ซ้ำซาก ในพื้นที่ท้ายเขื่อน หนัก วิกฤต อย่างไม่เคยมีมาก่อนในรอบ 52 ปี มีแน่
"แต่ละปีต้องคำนวณว่าจะมีน้ำเข้าเขื่อนเท่าไหร่ ไร่นาต้องใช้น้ำเท่าไหร่ ให้ปล่อยน้ำช่วงไหนเท่าไหร่ ภาวะแล้งจะแก้อย่างไร ต้องเตือนเกษตรกรให้ลดพื้นที่ปลูกไหม หรือให้หันไปปลูกอย่างอื่น แต่เกษตรกรจะยอมรับหรือไม่ก็อีกเรื่องหนึ่ง พื้นที่ปลูกข้าวตอนล่างยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตอนนี้ชาวนาทำนาปรังปีละ 3 ครั้ง พื้นที่นาข้าวปีที่แล้ว เพิ่ม 3 เท่าตัว นาข้าวแต่ละไร่ใช้น้ำ 2 พัน ลูกบาศก์เมตรต่อครั้ง"
เห็นอย่างนี้แล้ว เขื่อนภูมิพล คงยังต้องทำหน้าที่หนักต่อไป







ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

นกเค้าหู (นกเค้ากู่)

งานประเพณีแข่งเรือจังหวัดน่าน ประจำปี 2557

ซาลาแมนเดอร์ หรือจิ้งจกน้ำ